คณบดีการท่องเที่ยว DPU แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวผลักดันโมเดล BCG
คณบดีการท่องเที่ยว DPU แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวผลักดันโมเดล BCG
รัฐบาลกำลังเดินหน้าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดล BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ภายใน 7 ปี (พ.ศ.2564-2570)
โดยย้ำถึงการนำแผนงาน BCG ไปใช้ในทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยแผนนี้แบ่งออกเป็น 13 มาตรการหลัก มาตรการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมีอยู่หลายมาตรการ แต่ที่ตรงประเด็นที่สุดคือมาตรการที่ 8 ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว สร้างโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สร้างคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดหลักและกลุ่มจังหวัดรอง รวมถึงพัฒนาระบบการใช้จ่ายแบบระบบการชำระเงินเดียวสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อจัดทำคลังข้อมูลด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกคาดหวังว่าจะเป็นพระเอกหลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
การท่องเที่ยวไทยจะนำโมเดล BCG ไปใช้หรือไม่อย่างไร คงยังไม่มีใครตอบได้
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในปี 2562 ประเทศไทยนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 39.79 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.93 ล้านล้านบาท สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 18.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รายได้นี้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลักคือ ธุรกิจที่พัก (28.92%) ธุรกิจการขายสินค้าและของที่ระลึก (24.67%) และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (21.48%) สิ่งบันเทิง (9.17%) การเดินทางภายในประเทศและค่าทัศนาจร (13.87%) และเบ็ดเตล็ด (1.89%) ตามลำดับ (สำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2562)
ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภคของประเทศ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การเดินทางโดยรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศในวงกว้างไม่ว่าจะเป็น การสร้างขยะ การปล่อยน้ำเสีย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ
สำหรับธุรกิจโรงแรม นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ได้ถูกนำมาใช้โดยการนำของเครือโรงแรมระดับสากล งานวิจัยพบว่ากิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมหลักๆ ที่ดำเนินการโดยเครือโรงแรมสากล คือ การลดขยะและการนำสิ่งที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การประหยัดพลังงาน และการประหยัดน้ำ สำหรับในประเทศไทยความรับผิดชอบต่อสังคมก็นำโดยเครือโรงแรมสากลระดับ 4-5 ดาวเช่นกัน
อย่างไรก็ดีสำนักงานสถิติแห่งชาติ(2559) รายงานว่าประเทศไทยมีที่พักทั่วราชอาณาจักรถึง 12,654 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 728 แห่ง ภาคกลาง 3,273 แห่ง ภาคเหนือ 2,321 แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,204 แห่ง และภาคใต้ 4,128 แห่ง ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 60 ห้อง) และขนาดกลาง (60-149 ห้อง) เชื่อว่าโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางนี้ก็น่าจะมีนโยบายประหยัดน้ำและไฟฟ้า เนื่องจากกิจกรรมนี้ส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายโดยตรง โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์การระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงแรมอย่างมาก แต่ในประเด็นอื่นๆ ที่ส่งเสริมมาตรการที่ 8 ของ BCG ด้านการท่องเที่ยวสีเขียว เช่น การลดปริมาณขยะ การหมุนเวียนสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ การงดใช้ภาชนะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีการดำเนินการหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับการนำนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆ อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มธุรกิจนำเที่ยวที่เน้นการบริการนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประชุม หรือการท่องเที่ยวแบบเป็นรางวัล ซึ่งอาจเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า บริษัทที่รับจัดการประชุม (Professional Convention Organizer or PCO) และบริษัทที่รับจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ณ เมืองปลายทาง (Destination Management Company or DMC ) และกลุ่มธุรกิจที่เน้นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งแบบการเดินทางแบบเป็นกลุ่มและไม่เป็นกลุ่มซึ่งอาจเรียกว่า บริษัทนำเที่ยว (Tour operator) ส่วนใหญ่บริษัทท่องเที่ยวชั้นนำที่ทำธุรกิจกับลูกค้าจากบริษัทระดับนานาชาติได้มีการปรับตัวบ้างเรื่องการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ดี ในเมืองไทยมีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่จดทะเบียนมากกว่า 9,000 ราย การจัดนำเที่ยวเกี่ยวข้องกับการเดินทางและการแวะพักตามจุดท่องเที่ยว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นการท่องเที่ยวสีเขียวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการปรับตัวเพื่อตอบรับนโยบาย BCG
ในมุมมองของนักท่องเที่ยวงานวิจัยของผู้เขียนพบว่า นักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะปฏิบัติตนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยแต่ยังมีกับปัญหาและอุปสรรค งานวิจัยนี้ผู้เขียนเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 330 คน ในเมืองท่องเที่ยวหลัก พบว่านักท่องเที่ยวมีทัศนคติในการต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมในระหว่างการท่องเที่ยวแต่ในการปฏิบัติจริงเป็นไปได้ยาก เมื่อถามถึงสิ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พบว่าโดยรวมมีค่าคะแนนค่อนข้างต่ำคือ 2.31 จาก 5 (วัดการมีอยู่ที่นักท่องเที่ยวพบเห็นได้ จากน้อยไปหามาก) คำถามได้แก่ มีข้อมูลแนะนำนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีโปรแกรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลเกี่ยวกับรถสาธารณะ มียานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีถังขยะ (มีถังขยะแบบแยกประเภทขยะ) จากการวิเคราะห์ค่าสถิตินี้พบว่าสาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถปฏิบัติตนในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ก็อาจเนื่องมาจากการบริหารจัดการของภาคส่วนต่างๆ ของประเทศเราเอง แม้ผลการวิจัยนี้จะผ่านมาหลายปี แต่การบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองตามความต้องการของนักท่องเที่ยวที่นิยมแนวทางการท่องเที่ยวสีเขียว มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่แผน BCG ใน 7 ปีต่อจากนี้
เป็นที่รู้กันว่าสองปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การระบาดโควิด-19 ซึ่งการแก้ปัญหาด้านการเงินของธุรกิจเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญกว่า แต่งานวิจัยมากมายพบว่าการดำเนินงานที่รักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจท่องเที่ยวนำไปสู่ความพึงพอใจและความต้องการกลับมาซื้อซ้ำหรือกลับมาเยือนซ้ำของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะเปลี่ยนวิถีการท่องเที่ยวใหม่ที่เน้นความสะอาด ปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการจัดการและรูปแบบการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะถูกตั้งความหวังใหม่โดยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรเร่งทบทวนและพัฒนาการดำเนินงานด้วยมุมมองเรื่องการท่องเที่ยวสีเขียวและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและนโยบาย BCG การปรับตัวนี้จะนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
Cr. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดี คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์