“ตรีนุช” เดินหน้ายกระดับการอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมลงพื้นที่เฟ้นจังหวัดต้นแบบ พัฒนาครบวงจรทั้งจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี-อบรมพัฒนาครูอาชีวะเอกชน-นำนักเรียนนักศึกษาร่วม Fix it Center

“ตรีนุช” เร่งเครื่องยกระดับอาชีวะเอกชน
“ตรีนุช” เดินหน้ายกระดับการอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมลงพื้นที่เฟ้นจังหวัดต้นแบบ พัฒนาครบวงจรทั้งจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี-อบรมพัฒนาครูอาชีวะเอกชน-นำนักเรียนนักศึกษาร่วม Fix it Center

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ตนมีนโยบายการศึกษาเพื่ออาขีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งเรื่องหนึ่งในการเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งจากการที่ตนได้ลงพื้นที่พบกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ก็ได้รับทราบถึงเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชน ในการที่จะเร่งปรับปรุงพัฒนาการอาชีวศึกษาเอกชนในด้านต่างๆ โดยมี 3 เรื่องใหญ่ คือ
1.การส่งเสริมสนับสนุนอาชีวศึกษาเอกชนให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงครอบคลุมทุกวิทยาลัย
2.การพัฒนาครูอาชีวศึกษาเอกชน ที่จะต้องมีการสนับสนุนทั้งด้านการฝึกอบรมและการนิเทศ
และ 3.การจัดให้นักศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ในพื้นที่จริง โดยการร่วมกิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center และการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งหลังจากที่ตนได้รับทราบความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนแล้ว ก็ได้มอบหมายนให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เร่งวางแนวทางยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาเอกชนและดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า หลังจากรับนโยบายของ รมว.ศธ.ตนได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการอาชีวศึกษาเอกชน การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ด้านงานวิชากการ การทิเทศ และด้านความร่วมมือได้หารือร่วมกัน เช่น เรื่องการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา กับ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเดิมอาชีวศึกษาเอกชนอาจจะติดปัญหาในหลักเกณฑ์บางประการก็จะปรับปรุงให้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้จะเลือกบางจังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่จะเร่งดำเนินการทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การพัฒนาครู การพัฒนากิจกรรมองค์การวิชาชีพในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน การวางแผนการรับนักศึกษาร่วมกัน การแชร์ทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างวิทยาลัยอาชีวะของรัฐกับเอกชน และและนำนักศึกษาปฏิบัติงานในพื้นที่จริง โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะส่งคณะทำงานจากส่วนกลางลงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อวางแผนในการดำเนินการ โดยกำหนดให้ได้แนวทางและลงมือปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และให้เห็นผลภายในเดือนเมษายน 2565

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed