“สควิดเกม” (Squid Game) ในมุมมองด้านอาชญาวิทยา

“สควิดเกม” (Squid Game) ในมุมมองด้านอาชญาวิทยา

“สควิดเกม” ซีรีส์เกาหลีใต้แนวเอาชีวิตรอดที่โด่งดังไปทั่วโลก นำเสนอเรื่องราวการแข่งขันสุดอันตรายเพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาล ซองกีฮุน ชายวัยกลางคนผู้มีปัญหาชีวิต ทั้งหนี้พนัน การหย่าร้าง และการว่างงาน ได้รับคำเชิญชวนให้เข้าร่วมเกมปริศนาที่เดิมพันด้วยชีวิต หวังพลิกสถานการณ์อันสิ้นหวัง

กีฮุนพบว่าเขาต้องแข่งขันกับผู้เข้าแข่งขันอีก 455 คน ซึ่งล้วนเผชิญปัญหาการเงินเช่นเดียวกัน พวกเขาถูกพาไปยังสถานที่ลึกลับและต้องเผชิญหน้ากับเกมที่ดูเหมือนการละเล่นของเด็ก แต่กลับมีบทลงโทษถึงตายสำหรับผู้แพ้ โดยเกมต่าง ๆ ประกอบด้วย: เออีไอโอ ยู (Red Light, Green Light): เกมวิ่งไล่จับที่ผู้เล่นต้องหยุดนิ่งเมื่อตุ๊กตาหันมา หากเคลื่อนไหวจะถูกยิง แกะน้ำตาล (Dalgona): แกะแผ่นน้ำตาลให้เป็นรูปต่างๆ โดยไม่ให้แตก หากแตกจะถูกกำจัด ทั๊กคะเย่อ (Tug of War): การแข่งขันชักเย่อระหว่างสองทีม ทีมที่ถูกดึงตกจากแท่นจะแพ้ลูกแก้ว (Marbles): เล่นเกมลูกแก้วกับคู่ต่อสู้ ผู้ที่เสียลูกแก้วทั้งหมดจะแพ้ สะพานกระจก (Glass Stepping Stones): เดินข้ามสะพานกระจกที่มีบางแผ่นรับน้ำหนักไม่ได้ หากเหยียบผิดแผ่นจะตกลงไป และ สควิดเกม (Squid Game): เกมสุดท้ายที่ผู้เล่นสองคนต้องแข่งขันกันในพื้นที่รูปปลาหมึก โดยการแข่งขันดำเนินไปพร้อมกับความโหดร้าย ผู้เล่นต้องเผชิญกับการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ความขัดแย้ง และการหักหลังกันเอง

หากวิเคราะห์ “สควิดเกม” ในมุมมองอาชญาวิทยาสามารถพิจารณาได้หลายแง่มุม โดยมุ่งเน้นด้านอาชญากรรม พฤติกรรมเบี่ยงเบน และปฏิกิริยาของสังคมต่อความรุนแรงที่ปรากฏในซีรีส์ อาทิ อาชญากรรมที่ปรากฏในซีรีส์: การพนันผิดกฎหมาย: ตัวละครหลักหลายคนพัวพันกับการพนันผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นชนวนเหตุของปัญหาหนี้สินและผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมเกม การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการละเมิดสิทธิเสรีภาพ: ผู้เล่นถูกกักขังในสถานที่ปิดล้อมภายใต้การควบคุมของผู้จัดเกม ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การทำร้ายร่างกายและการฆาตกรรม: เกมต่าง ๆ ในซีรีส์มีการใช้ความรุนแรงและการฆ่ากันอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง การฉ้อโกงและการหลอกลวง: ผู้จัดเกมหลอกลวงผู้เล่นโดยสัญญาว่าจะมอบเงินรางวัล แต่ในความเป็นจริงกลับใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นเครื่องมือในการเดิมพันเพื่อความบันเทิงของกลุ่มวีไอพี และพฤติกรรมเบี่ยงเบน: พฤติกรรมเลียนแบบและความกังวลในสังคม: สะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาที่รุนแรงในซีรีส์อาจนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักอาชญาวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ให้ความสนใจ สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) อธิบายว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมเลียนแบบจากซีรีส์ และนำไปสู่การกระทำความผิด ทฤษฎีความเครียด (Strain Theory): อธิบายว่าอาชญากรรมอาจเกิดขึ้นจากความเครียดและความกดดันทางสังคม เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการขาดโอกาส ซึ่งเป็นประเด็นที่ปรากฏในสควิดเกม ตัวละครหลายตัวตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังและไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าร่วมเล่นเกม เพื่อต้องการให้ตนเองหลุดพ้นจากสภาพความกดดัน ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม (Social Control Theory): อธิบายว่าการควบคุมทางสังคม เช่น ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน มีบทบาทในการป้องกันอาชญากรรม การที่ผู้เล่นในสควิดเกมตัดสินใจเข้าร่วมเกมอาจสะท้อนถึงการขาดการควบคุมทางสังคมในชีวิตของพวกเขา พวกเขาอาจขาดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวหรือชุมชน จึงทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะกระทำผิดมากขึ้น นั่นหมายความว่า หากตัวละครในเกมมีความผูกพันกับครอบครัว โรงเรียนและชุมชน จะไม่ทำให้ตัวละครดังกล่าวกระทำความผิด และทฤษฎีทางเลือกเชิงเหตุผล (Rational Choice Theory): อธิบายว่าอาชญากรรมเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล โดยผู้กระทำจะชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์และความเสี่ยงที่ตนจะได้รับก่อนที่จะตัดสินใจกระทำผิด นอกจากนี้ ในสควิดเกม ผู้เล่นอาจมองว่าโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัลมหาศาลนั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต

 “สควิดเกม” จึงเปรียบเสมือนการจำลองภาพสะท้อนพฤติกรรมมนุษย์ ที่ถูกกำหนดโดยสภาพของสังคมเกาหลีใต้ ผ่านการนำเสนอเป็นรูปแบบภาพยนต์ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นสภาพภาพความจริงในสังคมซึ่งแฝงไปด้วยสาระและความบันเทิงตามแต่อรรถรสของผู้รับชม

 

เรียบเรียงโดย: ดร.กิตติศักดิ์ เหมือนดาว และ ดร.มิติ สังข์มุสิกานนท์ อาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต

***************************************

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed