ส.อ.ท. เปิดตัวสถาบัน “CISPI” ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ส.อ.ท. เปิดตัวสถาบัน “CISPI” ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย

14 มกราคม 2568 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์” หรือ Creative Industry and Soft Power Institute (CISPI) โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการคณะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมงานเปิดตัวพร้อมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ไทย และนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสถาบันฯ กล่าวต้อนรับและรายงานถึงความเป็นมาในการจัดตั้งสถาบันฯ ณ ลานไทยเบฟ ชั้น 10 ส.อ.ท.

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ (CISPI) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องในการสร้างระบบนิเวศ (Enabling Ecosystem) ของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ซึ่งจะรวมถึงวัฒนธรรม (Culture) ประเพณีที่ตกทอด (Heritage) และภูมิปัญญา (Wisdom) ของไทย เพื่อผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยอัตลักษณ์ไทย ตลอดจนส่งเสริมเรื่องการสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกระยะยาว

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตว่า มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การส่งเสริมยกระดับภูมิปัญญาไทย ไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ ซึ่งในการนี้ THACCA (Thailand Creative Culture Agency)จะเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากมายจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่สร้างความท้าทายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น สงครามการค้า ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี การก่อจารกรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น อีกทั้งความท้าทายเหล่านี้ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยปี 2568 ในหลายๆ ด้านทั้งปัจจัยด้านบวกและลบ โดย ส.อ.ท. ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมที่จะกลายเป็นดาวเด่นในปีนี้และอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Soft Power ถือเป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

“ในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ไทย ประเทศไทยถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การผลิตที่ละเอียดลออ งดงามผ่านความคิดสร้างสรรค์ และไทยมีโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี” นายเกรียงไกร กล่าว

ทางด้านนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวว่า ภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่ท้าทายและส่งผลต่อระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ภารกิจของสถาบันฯ คือ การผลักดันเอกลักษณ์ไทย โดยสร้างแบรนด์ Thailand as a Brand และหา Product Champion รวมทั้งสร้างระบบนิเวศแห่งความร่วมมือ โดยในระยะเริ่มต้น สถาบันฯ ได้กำหนด 6 กลุ่มงานนำร่องในการพัฒนา ได้แก่ อาหาร แฟชั่น อัญมณี เกม ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) และซอฟต์พาวเวอร์ภูมิภาค โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) อาหาร เป้าหมาย คือ อาหารไทยสู่ Top 10 โลก โดยใช้ “THAI SELECT” ของกระทรวงพาณิชย์เป็น Umbrella Brand รับรองมาตรฐานรสชาติอาหารไทย ตั้งแต่ระดับปลายน้ำ คือ ร้านอาหาร จนถึงต้นน้ำของซัพพลายเชน คือ วัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหารไทยที่มาจากภาคการเกษตร โดยมีโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) และโครงการอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) ของ ส.อ.ท. ร่วมพัฒนา

2) แฟชั่น เป้าหมาย คือ การสร้างแบรนด์แฟชั่นไทย สู่ Top 10 โลก โดยพัฒนาร่วมกับผู้ออกแบบและซัพพลายเชน ตลอดจนส่งเสริมการทำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมแฟชั่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบ ตลอดจนการพัฒนาวัสดุที่ยั่งยืน

3) อัญมณี มีหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (Gem & Jewelry)

4) เกม มีเป้าหมายทดแทนเกมนำเข้าด้วยเกมไทยในสัดส่วน 10% ของยอดนำเข้า ซึ่งประเมินมูลค่าได้ถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยนักสร้างสรรค์เกมไทยที่มีศักยภาพ

5) ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) มีเป้าหมายเพื่อนำเสน่ห์แห่ง Wellness ของไทยให้เป็นแบรนด์ที่สร้างความประทับใจและพึงพอใจทั่วโลก

6) ซอฟต์พาวเวอร์ภูมิภาค ด้วยการสร้างโมเดลผ่านการสร้างสื่อเข้าถึงง่าย ทั้งทางรายการโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ เป็นรายจังหวัดสู่สาธารณะในวงกว้าง การแนะนำ Soft Power ของจังหวัดในรูปแบบคนท้องถิ่น รวมทั้งการแนะนำผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดและกำหนดแบรนด์

“ขอขอบคุณภาครัฐที่ให้ความสำคัญต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยแต่งตั้งกรรมการเป็นผู้แทนในคณะยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและคณะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและแต่งตั้งผู้แทนเป็นอนุกรรมการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น เกม และ Wellness ตลอดจนส่งเสริมให้มีผู้แทนร่วมในทั้ง 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อความคล่องตัวในการประสานงาน สถาบัน CISPI พร้อมสร้าง Enabling Eco-system เพื่อเป็น New Growth Engine ของอุตสาหกรรมไทย ด้วย Soft Power ไทยตามแนวคิด Thainess: High Tech to High Touch จากความเก่าเก๋าที่มี เป็นความใหม่ที่สร้างสรรค์ ทำอัตลักษณ์ไทยให้จดจำง่าย สร้างความพึงพอใจและความสุขสู่โลก” นางพิมพ์ใจ กล่าวทิ้งท้าย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed